KWI ส่งกองทุนหุ้นเวียดนามรับศก.โตโดดเด่นระยะยาว ขาย 20-28 พ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 16, 2023 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรเชษฐ์ ศรีวัฒนกุลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เคดับบลิวไอ กล่าวว่า บลจ. เคดับบลิวไอ ได้เตรียมเปิดเสนอขาย กองทุนเปิด เคดับบลิวไอ เวียดนาม อิควิตี้ เอฟไอเอฟ (KWI VIETNAM) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน CGS Fullgoal Vietnam 30 Sector Cap ETF (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAVลงทุนครั้งแรกเพียง 1,000 บาท IPO 20-28 พฤศจิกายน นี้

กองทุนหลักเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ที่จดทะเบียนซื้อขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ (SGX-ST Main Board) บริหารจัดการโดย CGS-CIMB Securities (Singapore) Pte. Ltd. และได้แต่งตั้งให้ Fullgoal Asset Management (HK) Limited เป็นที่ปรึกษาการลงทุน ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะลงทุนใน USD Class Units ของกองทุนหลัก ซึ่งในปัจจุบันมีการซื้อขายใน 2 สกุลเงิน (Trading Currencies) ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) เป็นสกุลเงินหลัก และดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) เป็นสกุลเงินรอง โดยบริษัทจัดการอาจพิจารณาลงทุนในสกุลเงิน USD และ/หรือ SGD ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศดาวเด่นแห่งอาเซียนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2563) มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปี (Average annual growth rate) ของ Real GDP สูงถึง 6.7% ? 6.8% แม้ว่าปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจและภาคการผลิตต้องชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ในปี 2565 GDP ของเวียดนามฟื้นตัวด้วยอัตราสูงถึง 8.02% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในทวีปเอเชีย และยังคงมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยมีการคาดการณ์ GDP ปี 2566 และ ปี 2567 จะเติบโตที่ 4.7% และ 5.5% ตามลำดับ (ที่มา: The World Bank)

ในส่วนของตลาดหุ้นเวียดนามนั้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงปี 2564 แต่มีการชะลอตัวลงจากผลกระทบต่อเนื่องจากโรคระบาด COVID-19 การคุมเข้มด้านบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ความกังวลเกี่ยวกับสถาบันการเงินในประเทศ และในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมามีความผันผวนตามตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งการคาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังคงนโยบายทางการเงินตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อประกอบกับการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญอันเป็นปัจจัยกดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2566 และมีศักยภาพอย่างมากสำหรับการเติบโตในอนาคต ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิเช่น โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้มีความได้เปรียบในภาคอุตสาหกรรมแรงงานและมีจุดแข็งด้านต้นทุนค่าแรงต่ำ ความแข็งแกร่งของภาคการผลิตจากการที่บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งย้ายฐานการผลิตมายังประเทศเวียดนาม ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของเมืองต่างๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้ามาทำงานในเมือง (Urbanization) รวมทั้งความสามารถในการค้าขายได้อย่างอิสระกับหลากหลายประเทศจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ เป็นต้น

"ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้การลงทุนโดยตรงในเวียดนาม ตลอดจนตลาดหุ้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญตลาดหลักทรัพย์เวียดนามยังมีแผนที่จะปรับเกณฑ์การซื้อขายหุ้นให้มีความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อยกระดับตลาดหุ้นเวียดนามจาก Frontier Market เป็น Emerging Market ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนต่อนักลงทุนสถาบันทั่วโลก โดยในปัจจุบัน ค่า Forward P/E ของดัชนีโฮจิมินห์อยู่ที่ 11.7 เท่า ต่ำกว่าค่า Forward P/E เฉลี่ย 10 ปี ที่ 14.2 เท่า (ที่มา: Bloomberg) จึงเป็นระดับที่น่าสนใจลงทุน"

นายสุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุน CGS Fullgoal Vietnam 30 Sector Cap ETF (กองทุนหลัก) มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี iEdge Vietnam 30 Sector Cap Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงสุดตามมูลค่าราคาตลาด (market capitalization) จำนวน 30 อันดับแรกซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยดัชนีดังกล่าวจะไม่รวมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่น อาวุธป้องกันตัว การพนัน ยาสูบ ยาเสพติด และแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ดัชนี iEdge Vietnam 30 Sector Cap Index มีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float Market Capitalization) ซึ่งพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ (foreign-ownership limits) โดยมีสัดส่วนรายหลักทรัพย์สูงสุดไม่เกิน 10% และสัดส่วนรายหมวดอุตสาหกรรมสูงสุดไม่เกิน 25%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ