สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 17 - 23 มีนาคม 2568
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยเดือนมีนาคม 2568 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.044 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.16 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.939 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 0.068 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 0.25 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.624 ล้านไร่ ผลผลิต 7.605 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 654 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.058 ล้านไร่ ผลผลิต 6.545 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 651 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 15.57 ร้อยละ 16.20 และร้อยละ 0.46 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยในเดือนมีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 2.535 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 33.34 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 3.216 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 42.29 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 4.389 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 57.71 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,243 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,189 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.36
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,304 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,243 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,990 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.86
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.78
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 991 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,122 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 985 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,033 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 89 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,271 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,219 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 52 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 439 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,673 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,823 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 150 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.4226 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
1) การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนมีนาคม 2568 ผลผลิต 532.663 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 522.310 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.98
2) การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนมีนาคม 2568 มีปริมาณผลผลิต 532.663 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.98 การใช้ในประเทศ 530.712 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.38 การส่งออก/นำเข้า 58.499 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2566/67 ร้อยละ 2.41 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 181.509 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.09
- ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย บราซิล อุรุกวัย ปารากวัย กายานา อาร์เจนตินา และสหภาพยุโรป ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน กัมพูชา เมียนมา จีน ตุรกี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
- ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อิรัก ไอเวอรี่โคสต์ บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ อิหร่าน กานา
- ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 16.6 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 31,061.9 ล้านบาท) สำหรับการจัดหาข้าวเปลือกจากเกษตรกรท้องถิ่น ในปี 2568 โดยกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งหน่วยงานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติของอินโดนีเซีย (Bulog) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการงบประมาณดังกล่าวและดูแลกระบวนการจัดซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายในการหยุดการนำเข้าข้าวเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางด้าน
การผลิตข้าว โดยอินโดนีเซียจะต้องมีผลผลิตข้าวเกินดุลขั้นต่ำประมาณ 5 ? 6 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 30 ? 31 ล้านตันต่อปี จึงจำเป็นต้องมีผลผลิตข้าวให้มีเกินดุลอย่างน้อย 5 ? 6 ล้านตันตลอดทั้งปี เพื่อให้สามารถหยุดการนำเข้าข้าวได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียจนถึงเดือนเมษายน 2568 คาดว่าจะมีผลผลิตเกินดุลมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าผลผลิตเกินดุลประมาณ 2.8 ? 3 ล้านตัน
ในการนี้ รัฐบาลได้มุ่งเน้นกลยุทธ์ในการเพิ่มผลผลิตข้าวในระยะยาว โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้อินโดนีเซียสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านการผลิตข้าวและรักษาผลผลิตส่วนเกินประจำปีไว้ที่ประมาณ 5 ? 6 ล้านตันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บรรลุผลการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย รัฐบาลจึงเน้นย้ำให้มีการเร่งกระบวนการเกษตรกรรม โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชทดแทนทันทีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึงสามครั้งต่อปี ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 รูเปียห์ เท่ากับ 1.8712 บาท
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ปากีสถานเตรียมเพิ่มการส่งออกข้าวไปยังบังกลาเทศจาก 60,000 ตัน เป็น 200,000 ตัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการส่งออกข้าวของประเทศ โดยก่อนหน้านี้ปากีสถานได้กลับมาส่งออกข้าวไปยังบังกลาเทศอีกครั้งหลังจากทำข้อตกลงกับรัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลปากีสถานยังได้ยุติการใช้การรมยาเมทิลโบรไมด์เพื่อป้องกันการสกัดกั้นการส่งออกข้าวไปยังยุโรป พร้อมทั้งกระตุ้นการส่งออกสินค้าเกษตร โดยกระทรวงความมั่นคงทางอาหารและการวิจัยแห่งชาติ (The Ministry of National Food Security & Research) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการรมยาฯ ในประเทศผู้นำเข้าแทน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสามารถลดต้นทุนสำหรับผู้ส่งออกได้ และการดำเนินการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสามารถในการแข่งขันของข้าวปากีสถานในตลาดโลก นอกจากนี้ ปากีสถานยังมีแผนที่จะตรวจสอบเงื่อนไขการนำเข้าอย่างเข้มงวด และใช้มาตรการต่อต้านการทุจริตในระบบการค้าอย่างเคร่งครัดในอนาคต เพื่อสนับสนุนความโปร่งใสและปรับปรุงชื่อเสียงของประเทศในฐานะผู้ส่งออกข้าวที่มีความน่าเชื่อถือ
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร