สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 31, 2025 15:04 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 24 - 30 มีนาคม 2568

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยเดือนมีนาคม 2568 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.044 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.16 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.939 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 0.068 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 0.25 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.624 ล้านไร่ ผลผลิต 7.605 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 654 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.058 ล้านไร่ ผลผลิต 6.545 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 651 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 15.57 ร้อยละ 16.20 และร้อยละ 0.46 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยในเดือนมีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 2.535 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 33.34 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 3.216 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 42.29 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 4.389 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 57.71 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,331 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,243 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,994 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,304 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.73

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 35,150 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,990 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 982 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,082 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 991 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,122 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 40 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,250 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,271 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.94 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 21 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,654 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 439 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,673 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.6883 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

การนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ในปี 2568 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2568 มีปริมาณ 641,000 ตัน ลดลงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 นาย Raul Q. Montemayor กรรมการผู้จัดการสหพันธ์เกษตรกรเสรี (Federation of Free Farmers) กล่าวว่า การบังคับใช้มาตรการราคาขายปลีกสูงสุดที่แนะนำ (Maximum Suggested Retail Price; MSRP) ของกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ (Department of Agriculture; DA) อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าข้าวลดลงอย่างมาก ซึ่งกระทรวงเกษตรได้เริ่มบังคับใช้ MSRP สำหรับข้าวที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 โดยกำหนดราคา MSRP ที่ 58 เปโซต่อกิโลกรัม (32.46 บาทต่อกิโลกรัม) และได้มีการปรับลดราคา MSRP ลงเป็น 52 เปโซต่อกิโลกรัม (29.10 บาทต่อกิโลกรัม) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 และ 49 เปโซต่อกิโลกรัม (27.43 บาทต่อกิโลกรัม) ในวันที่ 1 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรยังระบุว่า หากแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกยังคงที่อยู่และค่าเงินเปโซยังแข็งค่า รัฐบาลอาจจะปรับลดราคา MSRP สำหรับข้าวที่นำเข้าให้เหลือประมาณ 45 เปโซต่อกิโลกรัม (25.19 บาทต่อกิโลกรัม) ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 จากการลดลงของราคา MSRP อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าข้าวต้องพิจารณาและประเมินความเสี่ยงด้านราคาก่อนการนำเข้า นอกจากนี้ ยังมีสินค้าคงเหลือจากการนำเข้าในปี 2567 ที่ยังไม่ได้จำหน่าย รวมถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน

ด้านความมั่นคงทางอาหารทำให้ผู้นำเข้ามีความกังวล เนื่องจากภายใต้กฎหมายป้องกันวินาศกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรปี 2567 โดยรัฐบาลสามารถประกาศห้ามการจำหน่ายสินค้าคงคลัง หากมีการลักลอบนำเข้าสินค้า

การกักตุนสินค้า หรือการค้ากำไรเกินควร อย่างไรก็ตาม การนำเข้าข้าวที่ลดลงยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากใน ไตรมาสแรกของปีเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งการนำเข้าข้าวในช่วงนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรง

สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (The Philippine Statistics Authority; PSA) รายงานว่า ราคาข้าวทั่วไปขายปลีกในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 46.30 เปโซต่อกิโลกรัม (25.91 บาทต่อกิโลกรัม) ลดลงจากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ 47.19 เปโซต่อกิโลกรัม (26.41 บาทต่อกิโลกรัม) และยังต่ำกว่าราคาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ 47.77 เปโซต่อกิโลกรัม (26.74 บาทต่อกิโลกรัม) โดยราคาข้าวเปลือก (ข้าวที่ยังไม่ได้สี) ลดลงร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20.29 เปโซต่อกิโลกรัม (11.36 บาทต่อกิโลกรัม)

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 เปโซ เท่ากับ 0.5597 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ